Friday, November 20, 2009

สาวร้อยผัว

สาวร้อยผัว
ในตำราต่าง ๆ เรียกชื่อทางวิทยาศาสตร์ของไม้ชนิดนี้ต่างกันไปบ้างเช่น ในพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตสถานฯ ท่านระบุไว้ชัดเจนว่า “รากสามสิบ น. ชื่อไม้เถาชนิด Asparagus racemosus Willd. ในวงศ์ Asaragaceae เถามีหนามใบลดรูปเป็นเกล็ด กิ่งเรียวรูปเข็ม รากอวบ ใช้ทำยาและแช่อิ่มได้ พายัพเรียก จ๋วงเครือ หรือ จั่นดิน”
ในตำราบางเล่มระบุวงศ์ต่างออกไป เป็นวงศ์ LILIACEAE เช่นเดียวว่านหางจระเข้ (Aloebarba densis mill) และต้นดองดึง (Gloriosa superba Linn.) ซึ่งต้นดองดึงนั้น พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่าอยู่ในวงศ์ COLCHICACEAE ที่ต่างจากตำราเล่มอื่น ๆ ด้วย
สาวร้อยผัว จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีรากเป็นกระจุกมากมาย (คล้ายรากของกระชาย) ต้นหรือเถาแรกออกจะโผล่แต่เถากลาง (เถาหลัก) ขึ้นไปในอากาศ ตามเถาจะมีหนามงุ้มลงเป็นระยะ ๆ (แต่ละข้อ) หลังจากนั้น ก็จะมีกิ่งแขนงโผล่ขึ้นมาจากเถาหลักดังกล่าวในแต่ละข้อ ส่วนใบก็จะออกรอบ ๆ กิ่งแขนง (ตามข้อ) ลักษณะของใบจะเป็นคล้าย ๆ เข็มเล่มเล็ก ๆ เป็นใบเดียวบ้าง เป็นกระจุกบ้าง บางกระจุกมีมากถึง 8-9 เส้น เมื่อใบออกเต็มที่จะมีสีเขียว เป็นพวงรอบกิ่งแขนง มองดูคล้ายพวงหางกระรอก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะออกดอกสีขาวให้ชม (ราวกันยายน – ตุลาคม) ผลกลม มี 3 พู และมีเมล็ดอยู่ภายในพูนั้น ฉะนั้น จึงสามารถขยายพันธุ์ได้ ทั้งปลูกด้วยเมล็ดและใช้เหง้าหรือหน่อ โดยควรจะปลูกในช่วงต้นฝน ส่วนจะปลูกลงดิน ลงกระถาง หรือจะปลูกในถุงดำทรงสูง ใส่ดินมาก ๆ (เพราะต้องการรากในปริมาณมาก ๆ) ก็แล้วแต่ความต้องการและวัตถุประสงค์ หากต้องการปลูกเป็นเพียงไม้ประดับ ก็ใช้กระถางเพียงพอแล้ว เพื่อให้ง่ายแก่การย้ายไปตั้งใกล้ต้นไม้อื่น
เมื่อมีอายุครบขวบตามฤดูกาลแล้ว ต้นสาวร้อยผัวก็จะเฉาและยุบลงไป อันจะเป็นสัญญาณว่าให้ขุดเอารากมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำเอารากไปใช้ประโยชน์ (แช่อิ่มหรือตากแห้ง) ได้แล้ว
ยอดของสาวร้อยผัว สามารถนำมาลวกรับประทานเป็นผักจิ้มได้ (edible) ส่วนใหญ่จะรู้จักรับประทานแต่คนเก่า ๆ แถวภาคอีสานของเรา และนับวันจะมีคนรู้จักรับประทานน้อยลง
ในทางสรรพคุณยา รากสามสิบ (สาวร้อยผัว) มีรสหวานเย็น ใช้รักษาโรคตับหรือปอดพิการ บำรุงตับและปอด บำรุงทารกในครรภ์ (ครรภรักษา) บำรุงกำลัง แก้กระษัย และช่วยขับปัสสาวะ
ใน “พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)” ซึ่งเชื่อว่า เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (เพราะปรากฏอยู่ใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์”) ได้กล่าวถึงสรรพคุณของรากสามสิบไว้ว่า
“ผักหวานตัวผู้มีรสหวาน แก้กำเดา แก้จักษุโรค (โรคตา) รากสามสิบทั้ง 2 มีคุณยิ่งกว่าผักหวาน”
กำเดา หรือไข้กำเดา มี 2 ชนิด อย่างหนึ่งตัวร้อน ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และอีกอย่างหนึ่ง อาการรุนแรงมากกว่า มีเม็ดผุดขึ้นตามร่างกาย คัน ไอ มีเสมหะ เลือดออกทางปากและจมูก
ใน “พระคัมภีร์วรโยคสาร” ซึ่ง “อมรเสกมหาอำมาตย์” เสนาบดีแห่งลังกาทวีป เป็นผู้รจนาไว้ (มาปรากฏหลักฐานในไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2413 สมัย ร. 5) ในหนั้งสือ “พระคัมภีร์เวชศาสตร์สงเคราะห์” เป็นตำราการแพทย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาหรือพระไตรปิฎก (ที่เรียกการรักษาโรคว่า “ติกิจฉาวิธี”-เวชกรรม) แม้จะเข้าใจค่อนข้างยาก แต่ก็น่าสนใจและน่าศึกษา ความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงตำรับยารักษา “คนธาตุหย่อน” อันมีตัวยารากสามสิบ (สะตาวะริ) รวมอยู่ด้วย ดังนี้
“มะหาแกแนศ 1 สิหิงแกะแนศ 1 อมุกกะรา 1 มะหาแกสิยา 1 พะลา คือ ขัดมอน 1 เลละสิริแวะฑียะ 1 เอระมินิยะ คือ เล็บเหยี่ยว 1 อัศเวนนะ คือ หญ้าเกล็ดหอย 1 วะจา คือ ว่านน้ำ 1 นิหิสุปะละ 1 พิละวะ คือ มะตูม 1 หิริมะสุ, ระมะนิ คือรากอบเชย 1 กิริอัคุนะ 1 แอะแทสิยะปะลุ 1 มุตุนุแวนนะ คือ ผักเปด 1 อะมะตะวัลลี คือ บอระเพ็ด 1 สะตาวะริ คือ รากสามสิบ 1 โคอุระ คือ โคกกระสุน 1 นิระละ 1 สุลุแกระ คือ หญ้าคมบางเล็ก 1 กัฏฐเวละพฏุ คือ มะเขือหนาม 1 ตะฑะพุทุ 1 เหละพฏุ คือ มะเขือขาว 1 มะธุลัฐิ คือ ชะเอม 1 มิทิ คือ คนทีสอใหญ่ 1 คณะดังกล่าวมานี้ให้จำเริญชีวิต ให้เกิดกำลัง ให้บำรุงไฟธาตุ ให้จำเริญอิทรีย์แต่ละอย่างมีกำลังมากต่างกัน กินเข้าไปแล้วหาโทษมิได้ ให้เอาน้ำตาลกรวด น้ำผึ้ง น้ำนมโค น้ำมันเนย ทั้ง 4 สิ่งนี้ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เปนกระสายละลายยา สิ่งหนึ่งก็ได้ 2 สิ่งก็ได้ ทั้งหมดก็ได้ เด็กก็ดี คนแก่ก็ดี คนมีกำลังก็ดี คนผอมก็ดี คนไม่มีกำลังก็ดี คนธาตุหย่อนก็ดี ให้ประกอบยานี้กินเถิด
อนึ่ง กินแล้วให้บังเกิดบุตร ให้อกตอแค่นแขงทั้ง 4 มีกำลัง ถึงกระดูกหักก็ดี แพทย์ก็นับถือรักษาด้วยยานี้เถิด”
ยาตำรับนี้นับว่าน่าสนใจ เสียดายต่เพียงว่า ท่านผู้รู้ยุคก่อนท่านแปลมาไม่ครบสมุนไพรหลายตัวเราไม่ทราบว่าเป็นอะไร อาจจะเป็นด้วยสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ไม่มีในประเทศไทย หรือหากมีท่านผู้แปลก้ไม่ทราบว่าเป็นตัวยาตัวไหนก็อาจจะเป็นได้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทราบถึงสรรพคุณของสมุนไพรหลายตัวด้วยกัน เช่น หญ้าขัดมอน ต้นเล็บเหยี่ยว หญ้าเกล็ดหอย ว่านน้ำ มะตูม รากอบเชย ผักเป็ด บอระเพ็ด รากสามสิบ หญ้าคมบาง และโกศจุฬาลำพา เป็นต้น
อีกตำรับหนึ่งเป็นยาแก้โรคผอมแห้ง โรคลม และแก้หอบหืด มีด้วยกัน 20 อย่าง ได้แก่ หญ้าเกล็ดหอยใหญ่ 1 ผักโหมหินเล็ก 1 ผักโหมหินใหญ่ 1 ละหุ่งขาว 1 ละหุ่งแดง 1 ทองกวาว 1 อุสภะกะชิวกะ 1 โคกกระสุน 1 รากสามสิบ 1 ดองดึง 1 หัวเบ็ญจปัตตะ 1 วณะแวนนะ 1 มะขือหนาม 1 มะเขือเครือ 1 แอดสฏิยะ 1 พาสุลุ 1 เหละฑิยะ 1 (ถ้าไม่ได้ให้เอา มุแวนนะ มหาเหละฑิยะ ถ้าไม่ได้ เอามะละแวนนะ) อาจริยะกล่าวไว้ให้เอาสิ่งละ 40 กล่ำ ถั่วดำ 1 สะตือ 1 สวาด 1 ยาหมู่นี้แก้ผอมแห้ง แก้คุลุมโรค (โรคลมต่าง ๆ) ก็ได้ แก้ลม แก้หอบก็ได้ แก้ปิตตะก็ได้แล ฯลฯ
อีกขนานหนึ่งที่ได้จาก “พระคัมภีร์วรโยคสาร” (ที่แปลมาจากตำราของชาวสิงหล) เป็นรากไม้ 17 อย่าง (รวมทั้งรากสิบและรากมะรุม) ได้แก่ สันพร้ามอน 1 ฏุกแวลังคุ 1 รากสามสิบ 1 มะตู 1 สิหิแมฑหังคุ 1 มะรุม 1 หญ้าคา 1 ดอกคำทั้ง 2 มะเขือขาว 1 มะเขือหนาม 1 ธารุสกะ คือ มะปราง1 นิยะทะ 1 ติดติคะ 1 (ถ้าไม่ได้เอาเกมิทะก็ได้) คนทีสอใหญ่ 1 สะค้าน 1 เจตมูลเพลิง 1 สะตือ 1 ยาดังกล่าวนี้ มีชือว่า วะระนาทิคณะ แก้อันตะวิทราโรค (โรคที่มีอาการเสียดแทงในลำไส้ใหญ่) แก้มันทาคินี แก้เสมหะ แก้คุลุมโรคหายแล ยาขนานนี้ให้เอาแต่รากทั้งหมด
ตำรับสุดท้ายที่ได้จากพระคัมภีร์วรโยคสาร ก็คือ ยาแก้เสมหะ มีสมุนไรพอยู่ 16 อย่างด้วยกัน ได้แก้ ทุรุวาทิคณะก็ดี 1 หญ้าแพรก 1 ตำแยเครือ 1 สะเดา 1 เสนียด 1 วัททุรุ 1 แห้วหมู 1 รากสามสิบ 1 กลิละ 1 ประยง 1 เอานิโครธาคณะก็ดี อุปะลาทิคณะก็ดี อัศษนาทิก็ดี สุระลาทิคณะก็ดี มุตตาทิคณะก็ดี วจาทิคณะก็ดี คณะทั้งหลายนี้ แก้เสมหะหายฯ
ที่ได้ยกเอาตำรับยา (ที่เข้าด้วยรากสามสิบ) มารวม 4 ตำรับนั้น เจตนาเพื่อให้ท่านได้เข้าใจถึงภูมิหลังความเป็นมาของสมุนไพรชนิดนี้ เพราะเราคงจะนำเอาตำรับยาดังกล่าวมาปรุงเป็นโอสถเพื่อใช้รับประทานไม่ได้ เนื่องจากเราไม่ทราบว่าตัวยาอีกหลายชื่อคือพืชชนิดใด (เพราะเป็นภาษาสิงหล หรืออาจจะเป็นภาษามคธของศรีลังกา)
ในตอนท้ายของตำรับยาตำรับที่ 2 คือยาแก้โรคผอมแห้งนั้น มีถ้อยคำที่น่าสนใจอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า “กล่ำ” ท่านบอกว่า ให้เอาสิ่งละ “40 กล่ำ” ซึ่งเป็นมาตราเงินโบราณ โดยกล่ำ ท่านหมายถึง มะกล่ำตาช้าง แต่หากเป็นกล่อม ท่านหมายถึง มำกล่ำตาหนู ซึ่ง 2 กล่อม จะเท่ากับ 1 กล่ำ แล 1 กล่ำ ก็คือ 1 อัฐ 8 อัฐ เท่ากับ 4 ไพ และเท่ากับ 1 เฟื้อง หรือ 2 อัฐ เท่ากับ 1 ไ นั่นเอง
ถ้าจะเอาตำรับยาที่เข้ารากสามสิบสองที่สมบูรณ์และนำมาใช้รับประทานเพื่อรักษาโรคได้จริง ๆ มี 1 ตำรับ คือ ยาต้มบำรุงครรภ์ หรือ “ยารักษาครรภ์” หรือ “ยาครรภรักษา” อีกทั้งเป็นยาแก้ปวดศีรษะอีกด้วย มีสมุนไพรทั้งหมด 13 ชนิด ใช้อย่างละเท่า ๆ กัน (เสมอภาร) ได้แก่ ราสามสิบ แก่นสน ชะลูด ขอนดอก กฤษณา กระลำพัก อบเชย เปลือกสมุลแว้ง เทียนทั้ง 5 บัวน้ำทั้ง 5 โกศทั้ง 5 จันทน์ทั้ง 4 และ เทพทาโร
นำยาทั้งหมดมาใส่ในหม้อเคลือบหรือหม้อดิน เติมน้ำลงไปให้ท่วมตัวยา สูงราว 6-7 เซนติเมตร ปล่อยแช่ไว้ราว ๆ 15 นาที แล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ ต้มเคี่ยวนานราว 30 นาที น้ำยาเดือดและมีกลิ่นหอมจึงยกหม้อลงจากเตา
ใช้ดื่ม 2 เวลา ก่อนอาหาร (เช้า-เย็น) เป็นยาบำรุงครรภ์อย่างดี
สำหรับข้อมูลด้านการตลาดสำหรับหัวรากสามสิบตากแห้งนั้น สอบถามดูแล้ว ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 250 บาท ก็นับว่าดีพอใช้ เกษตรที่สนใจอาจจะปลูกเป็นรายได้เสริม หรือสำหรับคนในเมืองอาจจะปลูกเอาไว้ดูเถาที่เลื้อยขึ้นตามริมรั้วหรือโคนต้นไม้อื่น ดูสบายตา และสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง
นี่แหละคือเรื่องราวของสมุนไพรที่ช่วยบำรุงครรภ์แก่สตรี รวมไปถึงบำรุงสุขภาพโดยรวม จนคนเก่า ๆ เห็นดีจริง เลยตั้งชื่อให้ว่า “ต้นสาวร้อนผัว”...เรียกว่า สู้ได้ทั้งบางว่างั้นเถอะ
การแช่อิ่มรากสามสิบ ก็ไม่มีพิธีรีตอนอะไรมาก เพียงล้างรากสามสิบให้สะอาด เกลาผิดนอกออกให้เกลี้ยง หักหรือตัดแล้วดึงเอาเส้นกลางรากออก ล้างแล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำไปแช่อิ่มในน้ำเชื่อสัก 3 น้ำ (อุ่นน้ำเชื่อม 3 ครั้ง) ก็จะได้รากสามสิบแช่อิ่มที่มีรสชาติถูกปาก พร้อมมีสรรพคุณในทางสมุนไพรไว้รับประทานในครัวเรือนแล้ว หากมีปริมาณมากก็นำออกเผยแพร่ขายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เสียเลย สายร้อยผัวแช่อิ่ม...โก้หยอกเสียเมื่อไร...ฯ

น้ำรากสามสิบ (สูตรดั้งเดิม)

ส่วนผสม

๑. สมุนไพรรากสามสิบ ใช้ส่วนราก ๒.๕ กก.

๒. น้ำ ๑๐ ลิตร

วิธีทำ

๑. นำรากสามสิบมาล้างให้สะอาด

๒. ปอกเปลือกและดึงไส้ออก

๓. หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

๔. ล้างให้สะอาดอีกครั้ง

๕. ต้มน้ำให้เดือด

๖. ใส่รากสามสิบ ลงในข้อ ๕

๗. เคี่ยวประมาณ ๓ ชั่วโมง

หมายเหตุ: ท่านสามารถปรุงรสได้ตามใจชอบโดยเพิ่มน้ำตาลกรวด และใบเตย เพื่อเพิ่มความหอมหวาน

รากสามสิบแช่อิ่ม

ส่วนผสม

๑. สมุนไพรรากสามสิบ ใช้ส่วนราก ๒.๕ กก.

๒. น้ำตาลทราย ๑.๕ กก.๓. น้ำ ๕ ลิตรวิธีทำ๑. นำรากสามสิบมาล้างให้สะอาด๒. ปอกเปลือกและดึงไส้ออก

๓. หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

๔. ล้างให้สะอาดอีกครั้ง

๕. ต้มน้ำให้เดือด

๖. เติมน้ำตาลทราย ลงในข้อ ๕

๗. เคี่ยวจนน้ำตาลทรายละลายหมด

๘. ใส่รากสามสิบ

๙. เคี่ยวต่อจนเป็นสีเหลืองทอง


ที่มา : นิตยสาร เทคโนโลยีชาวบ้าน

เจียวกู่หลาน สรรพคุณสุดยอด

สมุนไพรฟื้นฟูตับอ่อน

สมุนไพรรักษาสิวฝ้า

สมุนไพรลดไขมันในเส้นเลือด และแก้ไขมันอุดตันเส้นเลือด